สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
ดินแดนที่เป็นที่ตั้งของประเทศไทยปัจจุบัน
เคยเป็นที่อยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองหลายกลุ่ม มี ละว้า มอญ ขอม เป็นต้น
ต่อมาจึงมีหลักฐานเกี่ยวกับการอพยพของชนเผ่าไทยเข้ามายังดินแดนนี้
ชนเผ่าพื้นเมืองและชนเผ่าไทยได้ตั้งถิ่นฐานจนก่อตั้งเป็นอาณาจักรใหญ่กระจายอยู่ทั้วทุกทิศ
เช่น อาณาจักรโยนก อาณาจักรทวาราวดี และอาณาจักรอิสานปุระเป็นต้น
กลุ่มชนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในท้องที่ที่เป็นจังหวัดเลยจนสร้างบ้านแปลงเมืองได้เป็นกลุ่มแรกนั้นเชื่อกันว่า
เป็นชนเผ่าไทยที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่ก่อตั้งอาณาจักรโยนก
อาณาจักรโยนกเป็นอาณาจักรใหญ่ครอบครองดินแดนทางภาคเหนือของประเทศไทย
ตลอดไปจนถึงดินแดนแคว้นตังเกี๋ยของประเทศจีนและรัฐฉานของพม่า
มีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒–๑๘
ตำนานสิงหนวัติกล่าวว่า ปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรนี้ทรงพระนามว่า พญาสิงหนวัติ
เป็นเจ้าชายอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน อพยพผู้คนลงมาสร้างอาณาจักรโยนก
กษัตริย์ในราชวงศ์พระเจ้าสิงหนวัติปกครองโยนกนครสืบมาจนถึงสมัยพระองค์พังค-ราช
พวกขอมดำซึ่งมีอำนาจอยู่ทางใต้ของอาณาจักรโยนกตีได้โยนกนคร
พระองค์พังคราชต้องอพยพผู้คนไปตั้งเมืองใหม่ที่เวียงสีทวง ๑๙ ปี
พรหมกุมารราชโอรสจึงปราบปรามขอมดำขับไล่ออกไปจากอาณาจักรแล้วอัญเชิญพระองค์พังคราชกลับมาปกครองโยนกนครใหม่
ส่วนพรหมกุมารหรือพระเจ้าพรหมตามที่ขนานนามในภายหลังได้สร้างเมืองชัยปราการที่ริมแม่น้ำฝาง
ทำให้อาณาจักรโยนกเชียงแสนมีอำนาจยิ่งขึ้น
พระเจ้าพรหมครองเมืองชัยปราการจนสวรรคตแล้ว พระองค์ชัยศิริราชโอรสครองราชย์สืบต่อมา
ในสมัยนี้พระเจ้าอนุรุทมหาราช
กษัตริย์พม่ามีอำนาจยิ่งใหญ่ตีได้อาณาจักรโยนกและเมืองชัยปราการไว้ในอำนาจ
พระองค์ชัยศิริก็อพยพผู้คนลงใต้อันเป็นดินแดนของพวกมอญและขอม เมื่อ พ.ศ. ๑๕๔๗
การตั้งเมืองด่านซ้าย
เมื่ออาณาจักรโยนกล่มสลายแล้ว
ชาวโยนกเชียงแสนที่รักอิสระต่างพากันอพยพไปหาถิ่นที่อยู่ใหม่
บางพวกอพยพไปรวมกำลังกับพระองค์ชัยศิริ บางพวกก็อพยพไปหาที่อยู่อาศัยทางแคว้นพางคำ
พ่อขุนบางกลางหาว และพ่อขุนผาเมือง (เชื่อถือกันว่าเป็นเชื้อสายราชวงศ์สิงหนวัติ)
ได้นำผู้คนอพยพมุ่งลงไปทางทิศตะวันออก
เมื่อเข้าสู่ดินแดนลานช้างแล้วจึงบ่ายหน้าลงไปทางทิศใต้ (สันนิษฐานว่าจะนำผู้คนอพยพผ่านไปตามหมู่บ้านห้วยไฮ
ห้วยลึก นากอก บ้านเมืองฮำและเมืองบ่อแตน ปัจจุบันอยู่ในแขวงไชยบุรี
ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) แล้วนำไพร่พลข้ามลำน้ำเหืองขึ้นไปทางฝั่งขวาของลำน้ำหมัน
จนถึงบริเวณที่ราบจึงได้พากันหยุดพัก ส่วนพ่อขุนผาเมืองได้ตั้งบ้านด่านขวา (ปัจจุบันอยู่ในบริเวณชายเนินนาด่านขวาซึ่งยังมีซากวัดเก่าอยู่ในแปลงนาของเอกชน
ระหว่างหมู่บ้านหัวแหลมกับหมู่บ้านนาเบี้ย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย) และพ่อขุนบางกลางหาวได้แบ่งไพร่พลข้ามลำน้ำหมันไปทางฝั่งซ้ายสร้างบ้านด่านซ้าย
(สันนิษฐานว่าจะอยู่ในบริเวณหมู่บ้านเก่า อำเภอด่านซ้าย
จังหวัดเลยในปัจจุบัน) แล้วต่อมาจึงได้อพยพเลื่อนขึ้นไปตามลำน้ำไปสร้างบ้านหนองคูซึ่งอยู่ทางทิศใต้ เมื่อมีกำลังคนมากขึ้นจึงคิดที่จะขยับขยายไปหาถิ่นที่อยู่อาศัยใหม่
ครั้นได้นำเอานามหมู่บ้านด่านซ้ายมาขนานนามให้หมู่บ้านหนองคูเสียใหม่เป็น “เมืองด่านซ้าย” แล้วจึงนำไพร่พลอพยพไปเมืองบางยาง (เชื่อว่าอยู่ในเขตอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก) ส่วนพ่อขุนผาเมืองขณะที่พ่อขุนบางกลางหาวเลื่อนขึ้นไปตั้งหมู่บ้านหนองคู
พ่อขุนผาเมืองก็ได้นำผู้คนอพยพออกจากบ้านด่านขวาข้ามภูน้ำรินไปตั้งเมืองโปงถ้ำและอพยพต่อไปตั้งเมืองภูครั่ง
(โปงถ้ำสันนิษฐานว่าเป็นถ้ำเขียะในปัจจุบัน เป็นถ้ำเล็ก ๆ
อยู่ข้างถนนสายเลย-ด่านซ้าย
ห่างจากหมู่บ้านโคกงามไปทางด่านซ้ายประมาณ ๑ กิโลเมตร
และบริเวณที่หยุดพักไพร่พลตั้งเมืองเป็นการชั่วคราวคงจะเป็นที่เนินด้านขวาของทางหลวงสายโคกงาม-ด่านซ้าย
อยู่ในความควบคุมของแขวงการทางด่านซ้าย
ต่อมาได้อพยพไปสร้างเมืองบนภูครั่งซึ่งเป็นที่ราบอยู่บนยอดเขาภูครั่ง
ภูครั่งเป็นภูเขาลูกใหญ่มีพื้นที่ราบอันกว้างใหญ่อยู่บนยอดเขา
อยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอภูเรือ และอยู่ทางด้านทิศใต้ของหมู่บ้านหนองบัว
ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย อนึ่งคำว่า “เขียะ”
นั้นหมายถึงจั๊กจั่นชนิดหนึ่งแต่ตัวเป็นสีเขียว) ครั้นพ่อขุนบางกลางหาวได้พาผู้คนอพยพไปอยู่ที่เมืองบางยางแล้ว
พ่อขุนผาเมืองจึงได้อพยพผู้คนติดตามไปจนไปตั้งหลักแหล่งได้ที่เมืองราด (เชื่อว่าเป็นเมืองศรีเทพ อยู่ในท้องที่อำเภอศรีเทพและอำเภอวิเชียรบุรี
จังหวัดเพชรบูรณ์) โดยมีพ่อขุนบางกลางหาวเป็นผู้ปกครองเมืองบางยาง
และพ่อขุนผาเมืองเป็นผู้ปกครองเมืองราด ขณะเมื่อพ่อขุนบางกลางหาวปกครองเมืองบางยาง
ก็ได้ตั้งเมืองด่านซ้ายเป็นเมืองหน้าด่านทางตะวันออกตามราชธานีสมัยโบราณด้วย
การตั้งเมืองเซไล
ชาวไทยที่มีผู้นำสืบเชื้อสายมาจากเจ้าผู้ครองอาณาจักรโยนกอีกกลุ่มหนึ่ง
ได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนระหว่างชายแดนตอนใต้ของอาณาเขตลานนาไทยต่อแดนลานช้าง
คนไทยกลุ่มนี้อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ สืบเชื้อสายต่อมาหลายชั่วอายุคน
จนถึงสมัยที่พระมหาธรรมราชาที่ ๑ ลิไท ปกครองอาณาจักรสุโขทัย
เนื่องจากการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพญาลิไท ใน พ.ศ.๑๘๙๐ นั้น
มิได้เป็นไปอย่างราบรื่น ดังปรากฏในจารึกวัดป่ามะม่วง (หลักที่
๔) ว่าเมื่อพญาเลอไทสวรรคตแล้ว พญาลิไท
ซึ่งเป็นอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย ต้องยกทัพมาล้อมเมืองสุโขทัย
และเอาขวานประหารศัตรูทั้งหลายแล้วจึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติกรุงสุโขทัย
ในระยะแรกครองราชย์ พญาลิไทต้องปราบปรามพวกพ้องของผู้คิดชิงอำนาจ
พร้อมกับการทำนุบำรุงบ้านเมือง
ชาวไทยกลุ่มที่ตั้งบ้านเรือนอยู่เขตชายแดนอาณาจักรลาน-นาต่อแดนลานช้าง
จึงเกรงว่าพญาลิไทอาจจะทรงคิดกอบกู้พระราชอำนาจ ยกทัพมาปราบปรามหัวเมืองทางด้านนี้
และมีความเห็นว่าหมู่บ้านของตนเป็นทางผ่านและอยู่ใกล้แดนลานช้าง
ทั้งตนเองก็ได้ผูกสัมพันธไมตรีมีความสนิทสนมรักใคร่เป็นสหายต่อกันกับเจ้าชีวิตเมืองหลวงพระบางจึงคิดที่จะขจัดปัญหายุ่งยากซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้นทั้งสองฝ่ายให้หมดสิ้นไป
จึงนำผู้คนอพยพออกเดินทางผ่านเข้าไปในแดนลานช้างของพระสหายซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก
แล้วจึงมุ่งหน้าเดินลงไปทางทิศใต้ เมื่อข้ามลำแม่น้ำใหญ่ (แม่น้ำเหือง)
ได้แล้วก็วกลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
ครั้นไปถึงริมแม่น้ำสายใหญ่เห็นมีชัยภูมิเหมาะสมในการตั้งถิ่นฐาน
จึงได้พาผู้คนหยุดพักสร้างบ้านตั้งเมืองขึ้นโดยให้ชื่อว่า “เมืองเซไล”
(คำว่า “เซ” ในภาษาท้องถิ่นสมัยนั้น
ใช้เรียกแม่น้ำขนาดย่อม หรือลำห้วยขนาดใหญ่ ซึ่งไปตรงกับคำว่า “แคว” ในภาษาของภาคกลาง ส่วนคำว่า “ไล ไหล หรือเลอว” อันเป็นสำเนียงเสียงพูดของผู้คนในสมัยนั้น
สันนิษฐานว่า คงจะหมายถึงลักษณะของน้ำที่กำลังไหล หรือชำระล้างสิ่งต่าง ๆ
ดังนั้นคำว่า “เซไล” ก็คงจะหมายถึงน้ำที่กำลังไหลเชี่ยวหรือชะสิ่งต่าง
ๆ นั่นเอง
ผู้นำในการอพยพจนสร้างเมืองเซไลครั้งนั้น
แม้จะมีฐานะเป็นเพียงนายบ้านผู้ปกครองหมู่บ้านแต่ก็คงจะเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์สิงหนวัติเช่นกัน
เพราะในยุคนั้นมีคำเรียกขานผู้นำว่า “เจ้าฟ้าร่มขาว” คำว่า “เจ้าฟ้า” แสดงฐานะความเป็นเจ้าผู้ครองนคร
“ร่มขาว” ก็คือ
ร่มหรือสัปทนที่ทำด้วยผ้าขาว
ซึ่งใช้กางกั้นเป็นเครื่องประกอบอิสริยยศของผู้มียศศักดิ์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม
การอพยพลงไปจนตั้งเมืองเซไลโดยเจ้าฟ้าร่มขาวนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นนายบ้าน
ซึ่งเป็นบิดาของเจ้าฟ้าร่มขาว เป็นผู้นำในการอพยพ ทั้งนี้ จากหลักฐานการสร้างวัดกู่
ซึ่งเป็นวัดดั้งเดิมสร้างขึ้นในบริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหอโฮงการ
และอยู่ริมฝั่งเซไล (ปัจจุบันยังพอมีซากอิฐหลงเหลือไว้ให้พบเห็น) สำหรับชื่อเมืองว่าเซไลนั้น
คงจะเนื่องมาจากความอุดมสมบูรณ์ที่ได้มาพบอยู่สองฟากฝั่งเซไลและชื่อแม่น้ำแห่งนี้ก็ไม่มีมาก่อน
นอกจากคำว่าเซไลซึ่งเกิดมาจากคำอุทานที่ผู้คนอพยพทั้งหลายได้มาพบเห็นในการเดินทางมาแสนไกลแล้วได้มาหยุดพักลงอาบกิน
ทำให้ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าทั้งหลายที่มีมาเหือดหายไปจนหมดสิ้น
ต่างเลยพากันถือเอาคำอุทานมาเป็นชื่อของเมืองและของแม่น้ำถือเป็นศิริมงคลแก่พวกของตนแต่นั้นเป็นต้นมา
เมืองเซไลที่ได้สร้างขึ้นในสมัยนั้นไม่มีกำแพง
ป้อมปราการ
หรือปราสาทราชมณเฑียรแต่อย่างใดคงมีแต่หอโฮงการซึ่งเป็นโรงเรือนขนาดใหญ่ใช้เป็นทั้งที่พักและที่ว่าการเมืองของเจ้าผู้ครองเมืองเท่านั้น
(หอโฮงที่ได้ก่อสร้างในสมัยนั้น ถึงจะไม่มีซากปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานแต่ก็สันนิษฐานว่าคงจะอยู่ในบริเวณหอหลวง
อันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านทรายขาวในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ห่างจากวัดกู่คำ
และพระธาตุกุดเรือคำไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตามลำน้ำเลย ๒๐๐ เมตรเศษ
ในท้องที่หมู่บ้านทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย) สำหรับบ้านเรือนของราษฎรให้ปลูกสร้างเรียงรายขึ้นไปทางทิศเหนือ
จนไปจดชายเขตหนองน้ำเล็ก ๆ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ต่อมาเจ้าเมืองได้นำชาวเมืองสร้างวัดขึ้นทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหอโฮงการเมื่อปีพุทธศักราช
๑๙๐๐ ให้ชื่อว่า “วัดกู่” (วัดกู่ซึ่งได้สร้างขึ้นในสมัยโบราณนั้นปัจจุบันยังพอมีซากอิฐเหลืออยู่ริมฝั่งแม่น้ำเลย
บางส่วนอยู่ในบริเวณหอหลวงของชาวบ้านทรายขาว) ระหว่างที่นำผู้คนบุกเบิกสร้างบ้านเมืองใหม่ริมฝั่งเซไล
เจ้าเมืองคนแรกของเมืองเซไลก็ได้ไปมาหาสู่เจ้าชีวิตเมืองหลวงพระบางพระสหายอยู่ไม่ขาด
หลังจากสร้างวัดกู่เสร็จเรียบร้อยลงไปได้หลายปี
นายบ้านจึงมีบุตรชายซึ่งเกิดจากภรรยาผู้มีเชื้อสายเดียวกันหนึ่งคน
ระหว่างนั้นเจ้าชีวิตเมืองหลวงพระบางก็ได้ลงมาเยี่ยม
ครั้นได้มารู้ว่านายบ้านได้บุตรชายทั้งเกิดในวันเวลาเดียวกันกับบุตรชายของตน ซึ่งเกิดจากมเหสีเอกก็ยินดีเป็นยิ่งนัก
จึงให้ผูกสัมพันธ์กันไว้เช่นตนทั้งสอง
นายบ้านได้เฝ้ารักษาเลี้ยงดูบุตรชายมิว่าจะไปมาในที่ใด ๆ
นายบ้านผู้เป็นบิดาก็ให้ผู้คนคอยติดตามไปกางร่ม (สัปทน)
สีขาวกันแดดบังฝนจนเป็นสมญาเรียกกันในหมู่ชาวเมืองเซไลว่า "เจ้าฟ้าร่มขาว" ครั้นเจ้าฟ้าร่มขาวเติบใหญ่จนถึงวัยบวชเรียน
บิดาก็ถึงแก่มรณกรรมด้วยโรคชราทั้งตรากตรำทำงานหนักมากเกินไป
เจ้าฟ้าร่มขาวบุตรชายก็ได้ขึ้นครองเมืองเซไลแทนบิดาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา (ประมาณพ.ศ.๑๙๓๕)
ครั้นเจ้าฟ้าร่มขาวได้ขึ้นครองเมืองเซไล
ได้นำชาวเมืองเซไลพัฒนาบ้านเมืองด้วยการขุดลอกหนองน้ำเล็กทางชายเมืองด้านตะวันตกเฉียงเหนือ
และนำดินส่วนใหญ่มาถมยกระดับที่ลุ่มทางด้านทิศใต้ใกล้ฝั่งน้ำให้เป็นสันคันคูกั้นน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง
เมื่อการขุดลอกขยายหนองน้ำเล็ก ๆ ออกไปจนกว้างขวางเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ก็ให้ชาวเมืองไปหาพันธุ์บัวหลวงมาลงปลูกเอาไว้ แล้วขนานนามว่า "สระบัวหลวง" มาจนกระทั่งทุกวันนี้หลังจากนั้นก็ได้พิจารณาเห็นว่า
"วัดกู่" ที่บิดาสร้างเอาไว้ใกล้หอโฮงการด้านริมฝั่งเซไล
ได้ถูกน้ำเซาะกัดเข้ามาจนจะถึงตัวพระอุโบสถ
มิวันใดวันหนึ่งคงต้องพังทลายลงไปตามกระแสเซไล พอดีในระหว่างนั้นเจ้าฟ้าร่มขาวได้บุตรชาย
ซึ่งกำเนิดจากนางเทวี หนึ่งคนในขณะที่อายุล่วงเลยวัยกลางคนไปแล้ว เลยให้ชื่อว่า "ท้าวหล้าน้ำ" เจ้าชีวิตเมืองหลวงพระบางก็ได้ลงมาเยี่ยมและต่อจากนั้นมาอีกไม่นาน
เจ้าชีวิตเมืองหลวงพระบางได้ทิวงคตในระยะที่เมืองเซไลได้ก่อสร้างวัดขึ้นบนสันคันคูด้านทิศใต้ของสระบัวหลวง ก็ได้มีเหตุแปลกประหลาดเกิดขึ้นคือ
มีเรือทองคำปราศจากฝีพายเป็นพาหนะนำอัฐิเจ้าชีวิตเมืองหลวงพระบางมาถึงเมืองเซไล
แล้วเรือได้พุ่งเข้าฝั่งเพื่อจอดแต่ความแรงหัวเรือได้พุ่งเข้าหาตลิ่งไปโผล่ขึ้นบนฝั่งทางด้านหน้าวัดใหม่ที่กำลังสร้าง
เจ้าฟ้าร่มขาวเกรงชาวเมืองจะมาทำลายเลยให้ก่อสถูปครอบหัวเรือทองคำเอาไว้
ส่วนอัฐิของเจ้าชีวิตเมืองหลวงพระบางพระสหายก็ให้นำไปเก็บไว้ในหอโฮงการ
รวมไว้กับอัฐิบิดาของตน
เมื่อการก่อสร้างวัดและสถูปเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ให้ขนานนามวัดว่า "วัดกู่คำ" และขนานนามพระสถูปซึ่งสร้างครอบหัวเรือทองคำว่า
"พระธาตุกุดเรือคำ" ซึ่งสร้างเสร็จราว
พ.ศ.๒๐๐๐
แต่ตามหลักฐานซึ่งได้จารึกเอาไว้ที่วัดกู่คำว่าสร้างเมื่อ พ.ศ.๑๙๐๐ นั้น
สันนิษฐานว่า
เจ้าฟ้าร่มขาวประสงค์ให้ชาวเมืองทั้งหลายได้รำลึกถึงคุณความดีของบิดา
ซึ่งนำพาผู้คนอพยพลงมาบุกเบิกสร้างบ้านเมือง
จนได้ตั้งเมืองเซไลและสร้างวัดกู่ขึ้นไว้เป็นวัดแรก เมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๐
ถึงวัดกู่จะพังทลายลงไปในกระแสแม่น้ำเลยตามกาลเวลา
และเจ้าฟ้าร่มขาวก็ได้สร้างวัดขึ้นมาใหม่
โดยเจตนาจะนำชื่อวัดเก่ามาตั้งเป็นชื่อวัดที่สร้างขึ้นใหม่
ซึ่งพอดีกับเจ้าชีวิตเมืองหลวงพระบางทิวงคต ด้วยความรักกันอย่างแน่นแฟ้น
ถึงจะมีแต่เพียงกระดูกหรือเถ้าถ่านก็ยังมาถึงกัน
เจ้าฟ้าร่มขาวก็จึงนำเอาชื่อของทั้งสองมารวมเข้าด้วยกันแล้วตั้งเป็นชื่อวัดว่า
"วัดกู่คำ" แต่นำเอา พ.ศ.๑๙๐๐
ซึ่งเป็นปีที่ตั้งวัดกู่ของบิดามาจารึกเอาไว้เป็นอนุสรณ์ ส่วนคำจารึกซึ่งติดไว้ที่ป้ายพระธาตุกุดเรือคำ
ซึ่งได้มีการบูรณะปั้นด้วยปูนพอกสถูปองค์เดิมขึ้นใหม่จนผิดรูปผิดร่างเดิมไปด้วยฝีมือของหลวงพ่อเนียม
ชาวบ้านนาโป่ง ตำบลนาโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดเลย ซึ่งได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดกู่คำ
ราวปี พ.ศ.๒๕๑๙
ต่อมาได้ถึงแก่มรณภาพที่วัดบ้านเกิด หลวงพ่อเนียมได้ทำการบูรณะด้วยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้มีความมั่นคงและสวยงาม
จึงได้มีการเสริมรูปร่างขององค์พระสถูปให้แปลกตาออกไป
ในคำจารึกที่แผ่นป้ายบอกไว้ว่า "สร้างเมื่อ พ.ศ.๑๒๐๐" นั้น
เป็นการจารึกผิดพลาดอย่างแน่นอน พระธาตุกุดเรือคำน่าจะสร้างราว พ.ศ.๒๐๐๐ มากกว่า
บันทึกในสมุดข่อยที่นายหำ
อุทธตรี หรือ "พ่อตู้แพทย์" แห่งบ้านทรายขาว ตำบลทรายขาว
อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย พบในขณะบรรพชา เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑ ที่วัดกู่คำ บ้านทรายขาว กล่าวถึงการปกครองเมืองเซไลโดยแบ่งออกเป็น ๕
ยุค ดังนี้
ยุคที่
๑ เจ้าฟ้าร่มขาว มีภรรยาชื่อนางเทวี เชื้อสายเดียวกัน
มีบุตรชายหนึ่งคนชื่อ "ท้าวหล้าน้ำ" มีเหตุการณ์ที่สำคัญคือ
๑.๑ ขุดลอกหนองน้ำ
นำบัวลงปลูกให้ชื่อว่า "สระบัวหลวง"
๑.๒ สร้างพระธาตุกุดเรือคำ
ยุคที่
๒ ท้าวหล้าน้ำ มีภรรยาเป็นชาวเมืองเซไล ชื่อ
นางหล้า และมีบุตรชาย หญิง ๒ คน ชื่อ "ท้าวศิลา และนางชฎา"
เล่ากันว่า นางหล้าเป็นลูกของนางสีดาซึ่งเกิดมาจากนางสีดา
ได้ไปดื่มน้ำในรอยเท้าช้างชื่อมโนศิลา และรอยเท้ากวาง
นางสีดาให้กำเนิดบุตรีฝาแฝดผู้พี่ชื่อนางหล้า ผู้น้องชื่อนางลุน
และผู้น้องได้มาเสียชีวิตลงในคราวเดินเสี่ยงทางไต่งวงงาของพญาช้าง เลยเหลือแต่นางหล้าซึ่งเป็นลูกของช้าง
และต่อมานางหล้าก็คือนางผมหอมซึ่งมีนิวาสถานอยู่ที่ภูหอ สัญลักษณ์กิ่งอำเภอภูหลวง
ในปัจจุบันนี้ ในสมัยของท้าวหล้าน้ำได้มีเหตุการณ์ที่สำคัญดังต่อไปนี้
๒.๑ สร้างวัดเทิง (ปัจจุบันเป็นวัดร้างมีเหลือซากอิฐและหุ่นพระประธานอยู่ข้างที่ทำ
การประปาบาดาลบ้านทรายขาว
ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย)
๒.๒ เมืองเซไล
มีชื่อเรียกเป็นสร้อยต่อว่า "เซไลไซ้ข่าว" ทั้งนี้เนื่องจากคล้ายเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองลม (หล่มสักเก่า
จังหวัดเพชรบูรณ์) ซึ่งจะต้องสืบข่าวคราวหรือส่งข่าวไปยังเมืองลม
ยุคที่
๓ ท้าวศิลา
มีภรรยาชื่อนางสุขุม มีเชื้อสายเป็นชาวเมืองหลวงพระบาง มีลูกชายหนึ่งคนชื่อ "ท้าวสายเดือน" มีเหตุการณ์ที่สำคัญดังต่อไปนี้
๓.๑ สร้างวัดทุ่ง
หรือในปัจจุบันนี้เรียก "ทุ่งนาคันทง" แต่เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่หลักฐานอันสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่พอจะมีเหลือไว้ให้ได้เห็นคือต้นโพธิ์
อยู่ในบริเวณสวนกล้วยของเอกชนลึกเข้าไปทางซ้ายของทางหลวงจังหวัด สายวังสะพุง-ทรายขาว ประมาณ ๑๕ เมตร และอยู่ห่างจากหมู่บ้านทรายขาว ตำบลทรายขาว
อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ประมาณ ๕๐๐ เมตร
๓.๒
ในยุคนี้เมืองเซไลมีสร้อยเรียกต่อไปใหม่ "เซไลส่วยขาว"
เนื่องจากชาวเมืองเซไลแต่ละครัวเรือนจะต้องส่งส่วยด้วยผ้าขาวเรือนละ
๑ วา (ประมาณ ๒ เมตร) ส่วนการส่งส่วยผ้าขาวจะได้ส่งไปทางกรุงศรีอยุธยาหรือเมืองหลวงพระบางยังไม่มีหลักฐานระบุให้แน่ชัด
ยุคที่
๔ ท้าวสายเดือน
มีภรรยาเชื้อสายเดียวกันกับมารดาชื่อ นางบัวเซีย มีบุตรชายหนึ่งคนชื่อ "ท้าวเดือนสุข" และมีเหตุการณ์ที่สำคัญคือ
๔.๑ สร้างวัดตาล (ปัจจุบันคือวัดโพธิ์เย็นซึ่งอยู่ด้านหลังวัดกู่คำ ห่างประมาณ ๒๐๐ เมตร)
๔.๒
ชาวเมืองเซไลยังต้องส่งส่วยผ้าขาวอยู่เป็นประจำ
ยุคที่
๕ ท้าวเตือนสุขมีภรรยาเชื้อสายเดียวกันกับมารดาชื่อ
นางบัวลม (ไม่ปรากฏว่ามีบุตร) มีเหตุการณ์ที่สำคัญคือ
๕.๑
ท้าวเตือนสุขได้ครองเมืองเซไลด้วยความสงบร่มเย็นมาจนอายุล่วงเลยวัยกลางคน
เมืองเซไลก็เกิดทุพภิกขภัยข้าวยากหมากแพงฝนฟ้าไม่ตกชาวเมืองไม่ได้ทำนามาหลายปี ทั้งมีโรคระบาดเกิดขึ้นโดยทั่วไป
ชาวเมืองได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง
จึงได้พากันไปเรียนท้าวเตือนสุขให้พิจารณาหาทางแก้ไข
ท้าวเตือนสุขได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเมืองเซไลได้มาถึงกาลเวลาดับสิ้น
จึงได้เกิดเหตุอาเพศขึ้นมาเช่นนี้จึงได้พาผู้คนอพยพออกจากเมืองเซไลเพื่อแสวงหาที่อยู่ใหม่
โดยได้พากันเดินทางลงไปตามลำแม่เซไล
ครั้นไปถึงบริเวณที่ราบแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างปากลำห้วยไหลตกแม่เซไล
เห็นมีชัยภูมิเหมาะสมในการตั้งบ้านเรือนประกอบกับท้องน้ำของลำห้วยก็อุดมไปด้วยสารแร่ทองคำ
จึงให้ผู้คนที่อพยพมาตั้งหลักฐานสร้างบ้านเรือนขึ้นอยู่อาศัย
เสร็จแล้วได้ขนานนามหมู่บ้านใหม่ตามสภาพที่ตนได้พาผู้คนมาอยู่อาศัยว่า "บ้านแห่" ส่วนลำห้วยก็ให้ชื่อว่า "ห้วยหมาน" (คำว่า "แห่"
ภาษาและสำเนียงเสียงพูดของชาวอีสานนั้น บางคำที่ใช้พยัญชนะ "ห" นำ จะเป็นตัว "ฮ"
คำว่า "แห่" จึงเป็น
"แฮ่" ด้วย
ซึ่งมีความหมายเดียวกัน แต่นายแพทย์อุเทือง ทิพรส นายแพทย์สาธารณสุขคนแรกของจังหวัดเลย
ได้เขียนไว้ในเรื่องบ้าน "แฮ่" ว่า เนื่องจากในท้องน้ำหมานมีสารแร่ทองคำ
จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านของพวกตนว่า "บ้านแฮ่"
ทั้งนี้เพราะตัว "ร" ของชาวอีสานนั้นคือตัว "ฮ" นั่นเอง ซึ่งก็ถูกด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ในการตั้งชื่อลงทะเบียนหมู่บ้าน
ผู้จัดทำฟังสำเนียงชาวอีสานไม่เข้าใจ "บ้านแห่"
จึงกลายเป็น "บ้านแฮ่" มาจนกระทั่งทุกวันนี้ ส่วนคำว่า "หมาน"
ความหมายในภาษาอีสานนั้นหมายถึงความมีโชคดีเป็นต้น)
๕.๒
ครั้นพาผู้คนสร้างบ้านตั้งถิ่นฐานได้มั่นคงพอสมควร ท้าวเตือนสุขจึงนำชาวบ้านสร้างวัด เสร็จแล้วขนานนามวัดที่สร้างขึ้นใหม่ให้เป็นศิริมงคลแก่หมู่บ้านของตนว่า
"วัดศรีภูมิ" (สร้างปีพุทธ-ศักราช ๒๒๒๐) เมื่อได้พากันสร้างวัดเสร็จแล้ว
ต่อมาราว ๒ ปี
จึงได้พากันหล่อพระประธานด้วยโลหะขึ้นอีกองค์หนึ่งด้วยฝีมือช่างจากทางเหนือ (ซึ่งจะเห็นได้จากฝีมือช่างสกุลลานนากับลานช้างผสมกัน
โดยถือเอาแบบเชียงแสนยุคปลายสังฆาฏิยาวพระพักตร์กลมค่อนข้างแป้นและสั้น เปลวรัศมียอดพระเศียรยาว พระวรกายไม่สง่าดังพระพุทธรูปแบบเชียงแสนทั่วไป
และโลหะที่ใช้หล่อคงจะไม่พอ
ดังจะเห็นได้จากสีของโลหะที่องค์พระจากฐานถึงพระศอจะเป็นนาก ซึ่งเป็นการหล่อชิ้นใหญ่ชิ้นหนึ่งต่างหาก
ส่วนพระพักตร์และพระรัศมีนั้น
สีของนากจะอ่อนไปจึงเป็นสีค่อนข้างเหลืองมองด้วยตาเปล่าเห็นได้เด่นชัด
ซึ่งก็เป็นการหล่อที่แปลก
แต่ก็เป็นวัตถุโบราณที่มีคุณค่าสูงสุดชิ้นหนึ่งของชาวเมืองเลยที่ได้มีการสร้างขึ้นมาเมื่อปีพุทธสักราช
๒๒๒๒ เป็นของคู่บ้านคู่เมืองมีชื่อเรียกกันมาจนทุกวันนี้ว่า "พระพุทธรูปมิ่งเมือง" ซึ่งประดิษฐานอยู่บนกุฏิเจ้าอาวาสวัดศรีภูมิ
จะนำออกมาให้ประชาชนได้สรงน้ำเฉพาะวันสงกรานต์เท่านั้น
อนึ่งสำหรับพระประธานซึ่งปั้นด้วยปูนในพระอุโบสถเดิมพอกปูนขาวผสมยางบงและหนังเน่า
คลุกเคล้าเข้าด้วยกัน และได้มาบูรณะขึ้นใหม่ในคราวรื้อพระอุโบสถ เพื่อสร้างใหม่
รูปพระพักตร์ตลอดจนทรวดทรงช่างได้ถือเอาแบบพระพุทธรูปมิ่งเมืองมาเป็นหลัก
เลยทำให้ผู้พบเห็นพระพุทธรูปพระประธานในพระอุโบสถวัดศรีภูมิปัจจุบันนี้ว่า
เอาแบบมาจากพระพุทธรูปมิ่งเมือง)
๕.๓ หลังจากชาวเมืองเซไลได้อพยพลงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านแฮ่
ก็มีชาวเมืองเซไลบางส่วนที่ยังรักในถิ่นฐานเดิม
จึงได้พากันอพยพกลับไปเมือเซไลส่วยขาว
ครั้นได้พากันบูรณะที่อยู่อาศัยให้ดีแล้วเห็นว่าเมืองเซไลได้หมดสภาพความเป็นเมือง
ทั้งได้เลิกยกเลิกส่งส่วยผ้าขาวไปเป็นเวลานาน จึงได้พากันขนานนามให้หมู่บ้านของตนเสียใหม่ในถิ่นเดิมว่า
"บ้านทรายขาว" แล้วพากันอยู่กินด้วยปกติ
สุขมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น