สมัยกรุงศรีอยุธยา


สมัยกรุงศรีอยุธยา
            ประวัติของจังหวัดเลยในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการสงครามมากเท่าใด คงมีเหตุการณ์ที่น่าจะกล่าวถึงอยู่เรื่องหนึ่ง คือ เมื่อพ..๒๐๙๑  ปีแรกที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชย์ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ กษัตริย์พม่าผู้ครองกรุงหงสาวดี ได้ยกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ยกกองทัพออกรบกับพม่า เพื่อป้องกันพระนครและได้ชนช้างกับพระเจ้าแปร แม่ทัพหน้าของพม่า จนต้องเสียสมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระมเหสีเพราะถูกพระเจ้าแปรฟันสิ้นพระชนม์ซบกับคอช้าง การรบครั้งนั้นพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้ และเมื่อกลับไปถึงกรุงหงสาวดีแล้วไม่นานก็สวรรคต พระเจ้าบุเรงนองขึ้นครองราชสมบัติที่กรุงหงสาวดีแทน บุเรงนองเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็งในการสงคราม จึงได้หาสาเหตุมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก โดยแต่งพระราชสาส์นมาขอช้างเผือกของไทย ฝ่ายไทยไม่ยอมให้ พระเจ้าบุเรงนองจึงถือสาเหตุยกกองทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยาและตีหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทยได้หลายหัวเมือง รวมทั้งเมืองพิษณุโลกด้วยนอกจากยกกองทัพมารุกรานไทยแล้ว พม่ายังได้ยกกองทัพไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต ฝ่ายกรุงศรีสัตนาคนหุตสู้พม่าไม่ได้ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชต้องพากองทัพหนีไปอยู่ในป่า ทัพพม่าเข้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้จึงเก็บทรัพย์สินและกวาดต้อนประชาชน รวมทั้งมเหสีและสนมกำนัลของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชไปเมืองพม่า เมื่อพม่าเลิกทัพกลับไปแล้ว พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงได้พาทหารกลับเข้ามาอยู่กรุงศรีสัตนาคนหุต และได้แต่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับทูลขอพระเทพกษัตริย์ พระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริโยทัยผู้เป็นวีรกษัตริย์ไปเป็นมเหสี เพื่อเห็นแก่ความเป็นไมตรีของสองพระนครที่จะให้มีความรักใคร่กลมเกลียวกัน และจะได้เป็นกำลังในการต่อสู้ข้าศึก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ตกลงรับยินดีเป็นไมตรีกับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชตามที่ทูลขอมา แต่เป็นที่น่าเสียดายขณะที่พระเทพกษัตริย์เดินทางไปกรุงศรีสัตนาคนหุตนั้น ได้ถูกกองทัพพม่าเข้าแย่งชิงและกวาดต้อนไปกรุงหงสาวดีเสียก่อนที่จะไปถึงกรุงศรีสัตนาคนหุต
          เพื่อเป็นสักขีพยานและแสดงออกซึ่งไมตรีจิตมิตรภาพ ระหว่างกษัตริย์ทั้งสองพระนคร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิและพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช จึงได้โปรดให้สร้างพระเจดีย์องค์หนึ่งขึ้น เมื่อปี พ..๒๑๐๓ ในบริเวณที่ลำน้ำอู้ไหลมาบรรจบกับลำน้ำหมัน ซึ่งอยู่ใกล้ที่ตั้งเมืองด่านซ้าย ไว้เป็นอนุสรณ์โดยได้โปรดให้อำมาตย์ราชครู และพระราชาคณะเป็นตัวแทนของสองพระนครมาดำเนินการสร้าง แต่ก่อนที่จะสร้างพระธาตุศรีสองรัก ผู้แทนทั้งสองพระนครได้มีการทำพิธีตั้งสัตยาธิษฐานว่า ทั้งสองพระนครจะรักใคร่กลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ดุจเป็นราชอาณาจักรเดียวกันตลอดไปชั่วกัปกัลป์ (โปรดศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในประวัติพระธาตุศรีสองรัก)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น