สมัยกรุงธนบุรีและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์


สมัยกรุงธนบุรีและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
            ในสมัยกรุงธนบุรีไม่ปรากฏหลักฐานว่า มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในท้องที่จังหวัดเลย
          สำหรับสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทั้งนี้ เพราะสมัยนั้นประเทศที่มีอำนาจทางตะวันตกกำลังล่าเมืองขึ้น เพื่อให้เป็นอาณานิคมของตนเหตุการณ์ที่สำคัญที่ปรากฏขึ้นมีดังนี้
          เหตุการณ์สงคราม
                การอพยพหนีภัยทางการเมือง  ในพ..๒๔๓๖ (..๑๑๒) ไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสไปทั้งหมด เมืองเชียงคานซึ่งตั้ง อยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงดังกล่าวมาแล้ว ก็ต้องตกไปเป็นของฝรั่งเศสด้วย ปรากฏว่า ชาวเมืองเชียงคานไม่พอใจและด้วยความรักอิสระเสรี รักความเป็นไทย จึงพร้อมใจกันอพยพข้ามมาตั้งเมืองที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงเยื้องกับเมืองเดิมไปทางเหนือเล็กน้อย เมืองที่ตั้งใหม่เรียกว่า เมืองใหม่เชียงคาน คือที่ตั้งอำเภอเชียงคานปัจจุบัน ราษฎรที่อพยพข้ามมาครั้งนั้นไม่มีผู้ใดเกลี้ยกล่อมหรือบังคับ ทุกคนข้ามมายังดินแดนที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยด้วยความเต็มใจ ไม่พอใจที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของคนต่างชาติ ประมาณว่าผู้คนอพยพมาครั้งนั้นประมาณ ๔ ใน ๕ ของเมืองเชียงคานเดิม ต่อมาฝรั่งเศสได้เปลี่ยนชื่อเมืองเชียงคานเดิมเป็น เมืองสา-
นะคามจนทุกวันนี้ การอพยพหนีภัยการเมืองของชาวเมืองเชียงคานยุคนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นการอพยพข้ามฝั่งโขงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดเลย หรือพอจะกล่าวได้ว่าชาวเมืองเชียงคาน เป็นกลุ่มชนที่อพยพหนีภัยการเมืองรุ่นแรกของจังหวัดก็พอจะได้ หัวหน้าผู้อพยพครั้งนั้นได้แก่ พระอนุพินาศเจ้าเมืองเชียงคานนั่นเอง
            ศึกบ้านนาอ้อ  ..๒๔๔๐ เมื่อฝรั่งได้ครอบครองดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ในพ..๒๔๓๖ แล้ว แม้จะได้ครอบครองเมืองสานะคาม (เชียงคาน) แล้วก็คงได้แต่เมืองที่เกือบร้าง เพราะผู้คนอพยพเข้าสู่พระราชอาณาจักรไทยข้ามฝั่งโขงมาตั้งเมืองเชียงคานขึ้นใหม่ที่ฝั่งตรงข้ามดังกล่าวแล้ว ฝรั่งเศสก็หาทางที่จะยึดดินแดนไทยอีก คือ เมืองเชียงคานที่ตั้งขึ้นใหม่ ถึงกับข้ามแม่น้ำโขงมาขู่เข็ญเจ้าเมืองเชียงคานใหม่ โดยหลอกว่าทางบางกอกได้ยกเมืองเชียงคานให้แก่ฝรั่งเศสแล้ว เจ้าเมืองเชียงคานได้ออกอุบายให้ฝรั่งเศสไปยึดเมืองเลยให้ได้เสียก่อน เมื่อได้เมืองเลยแล้ว เมืองเชียงคานก็ไม่มีปัญหาอะไร ทั้งนี้ เพราะเจ้าเมืองเชียงคานทราบดีว่าทางเมืองเลยมีกองทหารเตรียมมาแต่สมัย ร..๑๑๒  แล้ว ซึ่งฝรั่งเศสก็คงพ่ายแพ้แล้วจะได้หาทางซ้ำเติมทีหลังและได้ส่งข่าวให้ทางเมืองเลยทราบล่วงหน้า ฝรั่งเศสหลงกลได้ยกกำลังพลโดยมีฝรั่งเศสหนึ่งนายเป็นหัวหน้าและมีลูกน้องเป็นลาวเพียงไม่กี่คน ยึดบ้านนาอ้อ ยุยงให้ชาวบ้านแข็งเมืองต่อรัฐบาลไทย โดยสัญญาว่าจะปลดปล่อยบ้านนาอ้อให้เป็นเมืองนครหงส์ มีเจ้าเมืองกรมการเมืองเช่นเดียวกับเมืองเลย ซึ่งจะแต่งตั้งจากผู้ร่วมมือทั้งสิ้น ก็ปรากฏว่ามีชาวบ้านหลงเชื่ออยู่ไม่กี่คน สุดท้ายกองทหารจากเมืองเลยเข้าปราบปรามไม่กี่วันฝรั่งเศสก็แตกพ่ายหนีไปทางเวียงจันทน์ ประเทศลาว (เวลานี้ยังมีซากสนามเพลาะของทหารไทยอยู่ที่บ้านโพน ห่างจากบ้านนาอ้อราว ๒ กิโลเมตร)
            ศึกด่านซ้ายและท่าลี่ ฝรั่งเศสได้ใช้อำนาจเดินทัพเข้ายึดอำเภอด่านซ้ายในปี พ..๒๔๔๖ และได้นำศิลาจารึกตำนานพระธาตุศรีสองรักล่องแม่น้ำโขง หวังว่าจะนำไปยังนครเวียงจันทน์ แต่เรือที่บรรทุกศิลาจารึกล่มที่แก่งฬ้า เขตอำเภอปากชม จังหวัดเลย ศิลาจารึกจมน้ำหายไป
(แต่ภายหลังทราบว่าในปีที่แล้งที่สุดน้ำในแม่น้ำโขงแห้งขอดมาก มีผู้ไปพบศิลาจารึกนี้ที่แม่น้ำโขง และฝรั่งเศสได้นำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟ นครปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่ยังไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริง) ขณะนั้น พระมหาเถระชาวอำเภอด่านซ้ายผู้หนึ่งชื่อพระคูลุนแห่งวัดบ้านหนามแท่ง ตำบลด่านซ้าย พร้อมพระแก้วอาสา (กองแสง) เจ้าเมืองด่านซ้ายและเพียศรีวิเศษ ได้ขอคัดลอกไว้ก่อนที่ฝรั่งเศสจะนำไปเวียงจันทน์ แล้วเขียนลงในศิลาจารึกมีข้อความอย่างเดียวกันเวลานี้ก็ยังเก็บรักษาไว้ที่บริเวณวัดธาตุศรีสองรัก  ฉะนั้น ศิลาจารึกที่เห็นอยู่ทุกวันนี้จึงเป็นศิลาจารึกฉบับคัดลอก ต่อมาในปีพ..๒๔๔๙ ฝรั่งเศสได้คืนเมืองด่านซ้ายให้ โดยแลกกับดินแดนเขมรที่เป็นของไทยบางส่วน ในระยะที่ฝรั่งเศสครอบครองเมืองด่านซ้าย ๓ ปีเศษนั้น ไทยได้อพยพอำเภอไปตั้งที่บ้านนาขามป้อม ตำบลโพนสูง อำเภอด่านซ้าย เสร็จเรื่องแล้วจึงกลับคืนไปตั้งอำเภอที่เดิม
          ในระยะเวลาใกล้ ๆ กับที่ฝรั่งเศสยึดอำเภอด่านซ้ายนั้น กำลังทหารฝรั่งเศสตั้งอยู่ที่บ้านหาดแดงแม่น้ำเหือง ได้ยกพลจะยึดอำเภอท่าลี่ เพราะเห็นว่าเคยเข้ายึดอำเภอด่านซ้ายสำเร็จอย่าง
ง่ายดายมาแล้ว แต่คราวนี้ฝ่ายไทยหลอกล่อให้ฝรั่งเศสเดินทัพมาอย่างสะดวก  พอจวนถึงที่ตั้งอำเภอก็ถูกหน่วยกล้าตายของชาวอำเภอท่าลี่ ซุ่มโจมตีถึงตะลุมบอน (ที่ตั้งโรงเรียนบ้านท่าลี่) ฝรั่งเศสประสบกับความพ่ายแพ้และนับแต่นั้นมาไม่ปรากฏฝรั่งเศสได้ข้ามแม่น้ำเหืองมาก่อกวนอีกเลย

ผีบุญที่บ้านหนองหมากแก้ว

        เมื่อปีพ..๒๔๖๗ ได้เกิดมีผีบุญขึ้นมาคณะหนึ่ง จำนวน ๔ คน อ้างว่า คณะของตนได้รับบัญชาจากสวรรค์ให้ลงมาบำบัดทุกข์บำรุงบำรุงสุขแก่มวลมนุษย์ซึ่งยากไร้และเต็มไปด้วยกิเลส ได้กำหนดสถานที่อันบริสุทธิ์ไว้ดำเนินการเพื่อแสดงอภินิหารประกอบพิธีกรรม  อบรมสั่งสอนผู้คนที่วัดบ้านหนองหมากแก้วในหมู่บ้านหนองหมากแก้ว (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ตำบลปวนพุ อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย) บุคคลในคณะของผีบุญ ๔ คน ต่างมีหน้าที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้

        นายบุญมา จัตุรัส  อุปสมบทได้หลายพรรษาเดินทางมาจากจังหวัดชัยภูมิ ได้ขนานนามของตนเองเป็น พระประเสริฐ มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะ มีหน้าที่ทำน้ำมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ใส่ตุ่มไว้ให้ผู้คนได้ดื่มกินและอาบเป็นการสะเดาะเคราะห์ แล้วทำพิธีปลุกเสกลงเลขยันต์ในตะกรุด ซึ่งใช้ตะกั่วลูกแหมาตีแผ่ออกเป็นแผ่นบาง ๆ เสร็จแล้วมัวนออกแจกจ่ายให้ผู้คนร้อยเชือกผูกสะเอวติดตัวไว้ เป็นเครื่องรางของขลังชั้นยอดของพระประเสริฐในทางคงกระพันชาตรีป้องกันผีร้าย
         . ทิดเถิก  บุคคลผู้คงแก่เรียนชาวบ้านหนองหมากแก้ว ได้ขนานนามตนเองเป็น เจ้าฝ่าตีนแดงมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้า มีหน้าที่ทำผ้าประเจียดกันภัยอันทรงประสิทธิภาพเป็นมหา-อุตม์แม้ปืนผาหน้าไม้ตลอดจนมีดพร้ากะท้าขวานก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรแก่ผู้ที่มีผ้าประเจียดอันทรงฤทธิ์ของเจ้าฝ่าตีนแดงได้ วิธีทำผ้าประเจียด ไม่ว่าบุคคลใดที่มีความประสงค์ก็ให้บุคคลเหล่านั้นไปจัดหาผ้าฝ้ายสีขาวขนาดกว้างยาว  ด้านละหนึ่งศอกของตนมาหนึ่งผืน เมื่อมาพร้อมหน้ากันครั้นได้เวลาสานุศิษย์ก็ให้ผู้ประสงค์รอคอยอยู่ข้างล่างศาลาแล้วเรียกขึ้นไปทีละคน ผู้ที่ขึ้นไปแต่ละคนจะต้องคลานเข้าไปหาเจ้าฝ่าตีนแดงและห้ามมองหน้า เมื่อคลานเข้าไปถึงที่ที่เจ้าฝ่าตีนแดงนั่งอยู่จึงคลี่ผ้าขาวที่จะมาทำผ้าประเจียดปูออกแล้วพนมหมอบก้มหน้านิ่งจนกว่าเจ้าฝ่าตีนแดงจะทำผ้าประเจียดเสร็จ ฝ่ายเจ้าฝ่าตีนแดงเมื่อเห็นผู้ที่ประสงค์อยากได้ผ้าประเจียดได้กระทำตามกฎซึ่งตนวางไว้ด้วยความเคารพก็ลุกขึ้นยกเท้าขวาหรือซ้ายย่ำลงไปในบม (บมคือภาชนะที่ทำด้วยไม้ มีลักษณะทรงกลมแบนและลึกคล้ายถาดซึ่งชาวอีสานใช้เป็นภาชนะสำหรับใส่ข้าวเหนียวที่นึ่งสุกดีแล้ว เพื่อให้ไอน้ำออกก่อนที่จะนำไปเก็บไว้ในกระติบ) ที่มีขมิ้นกับปูนตำผสมกันไว้อย่างดี แล้วจึงยกเท้าข้างที่ย่ำลงไปในบมเหยียบผ้าขาวก็จะปรากฏรอยเท้าของเจ้าฝ่าตีนแดงอย่างชัดเจนเป็นอันเสร็จพิธีทำผ้าประเจียดนำไปใช้ได้ทันที  แต่ถ้าหากเหยียบผ้าขาวแล้วปรากฏรอยไม่ชัดเจน หรือไม่สบอารมณ์ของเจ้าฝ่าตีนแดง ผู้ที่ต้องการก็ต้องไปหาผ้าขาวมาทำใหม่จนกว่าจะได้ผ้าประเจียดชั้นดีไปไว้ใช้ต่อไป ครั้นได้ผ้าประเจียดไปแล้วจะต้องนำไปเก็บบูชาเอาไว้บนหิ้งพระ หรือเมื่อออกเดินทางจะต้องพับชายผูกคอไปเป็นเครื่องรางของขลังประจำตัวทุกครั้งจะลืมไม่ได้เป็นอันขาด
           . นายสายทอง อินทองไชยศรี ขนานนามตนเองเป็น เจ้าหน่อเลไลย์ อ้างว่า ได้รับบัญชาจากสวรรค์ให้มาปราบยุคเข็ญโดยเฉพาะ มีวาจาสิทธิ์สามารถที่จะสาปผู้ละเมิดกฎสวรรค์ให้เป็นไปตามโทษานุโทษที่ตนพิจารณาเห็นตามสมควรได้ทันที ครั้งนั้นได้เกิดมีการขโมยเกิดขึ้นในหมู่บ้านหนองหมากแก้ว แล้วจับขโมยได้ ชาวบ้านจึงควบคุมตัวไปให้เจ้าหน่อเลไลย์เป็นผู้ตัดสิน ผลของการตัดสินปรากฏว่า ขโมยได้ละเมิดกฎของสวรรค์ในข้อบังเบียดเครื่องยังชีพของมวลมนุษย์อย่างสุดที่จะอภัยให้ได้ โทษที่ขโมยพึงได้รับในครั้งนี้ก็คือ ต้องถูกสาปให้ธรณีสูบลงไปทั้งเป็น ครั้นได้พิพากษาโทษให้ผู้คนทั้งหลายได้รู้เห็นทั่วไปแล้ว พิธีสาปก็เริ่มขึ้นโดยเจ้าหน่อเลไลย์มีบัญชาให้สานุศิษย์ขุดหลุมขนาดพอฝังศพได้ในสถานที่ที่ได้กำหนดไว้ ครั้นแล้วให้ไปนำตัวขโมยซึ่งได้ผูกมัดข้อมือเอาไว้อย่างแน่นหนา พาไปยืนที่ปากหลุม แล้วเจ้าหน่อเลไลย์ก็เริ่มอ่านโองการอัญเชิญเทวทูตให้ลงมาจากสรวง-สวรรค์ มาเป็นสักขีพยานในการที่ตนได้ดำเนินการสาปให้ขโมยต้องถูกธรณีสูบลงไปทั้งเป็นตามโทษานุโทษ พอเจ้าหน่อเลไลย์กล่าวคำสาปสิ้นสุดลงก็บัญชาให้สานุศิษย์ผลักขโมยลงไปในหลุม พร้อมกับช่วยกันรีบขุดคุ้ยโกยดินลงกลบฝังขโมยที่ต้องคำสาปให้ธรณีสูบลงไปทั้งเป็น ท่ามกลางความตกตะลึงพรึงเพริดสยดสยองของผู้คนที่ไปร่วมชมพิธีกรรมเป็นอย่างยิ่ง เมื่อคณะผีบุญคล้อยหลังลับไป บรรดาญาติพี่น้องของขโมยก็รีบพากันขุดคุ้ยโกยดินนำขโมยที่ถูกฝังทั้งเป็นอาการร่อแร่ปางตายขึ้นมาปฐมพยาบาล แล้วรีบพากันอพยพหลบหนีบัญชาจากสวรรค์ของคณะผีบุญไปในคืนนั้นทันที และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น เป็นผลให้ไม่มีการลักขโมยใด ๆ เกิดขึ้นในหมู่บ้านหนองหมากแก้วต่อไปอีกเลย ทั้งนี้ ด้วยทุกคนได้ประจักษ์แก่ตาในประกาศิตจากสวรรค์ของเจ้าหน่อเลไลย์เป็นอย่างยิ่ง
           นายก้อนทอง พลซา ชาวบ้านวังสะพุงซึ่งเป็นบุคคลที่ ๔ ขณะนั้นรับราชการในหน้าที่สารวัตร อำเภอวังสะพุง ได้ไปพบเห็นพิธีการต่าง ๆ ของคณะผีบุญจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จนถึงกับได้ขออนุญาตลาบวชจากทางราชการมีกำหนด ๑๐ วัน ในระหว่างที่ทางราชการได้อนุญาตให้ลาบวชได้ นายก้อนทอง ฯ ได้ถือโอกาสหลบไปสมทบกับคณะผีบุญที่บ้านหนองหมากแก้ว แล้วก็รีบทำความเพียรแต่ยังไม่ทันจะได้รับความสำเร็จจนถึงขั้นได้รับการขนานนาม ก็มาถูกทางบ้านเมืองเข้าทำการปราบปรามและจับตัวได้เสียก่อน
           คณะผีบุญซึ่งถือว่าตนเป็นผู้วิเศษได้กำหนดพิธีกรรมให้ชาวบ้านปฏิบัติ โดยถือเอาศาลาการเปรียญวัดบ้านหนองหมากแก้วเป็นศูนย์กลางทุกวันในเวลาเช้าและเย็น  ชาวบ้านทุกคนจะต้องมาร่วมเข้าพิธีสวดมนต์ไหว้พระเป็นประจำขาดไม่ได้ และในเวลากลางคืนทุกคืน บรรดาสาว ๆ หรือภรรยาของผู้ใดก็ตามที่มีใบหน้าและรูปร่างสวยงาม จะต้องอาบน้ำแต่งตัวให้สะอาดสดสวย แล้วนำพวงมาลัยดอกไม้สดและน้ำหอมผลัดกันเข้าไปมอบให้คณะผีบุญ  ต่อจากนั้นก็จะเริ่มพิธีฟ้อนรำบวงสรวงเวียนพรมน้ำอบน้ำหอมไปรอบๆ ตัวของผีบุญ หากผีบุญเกิดพึงพอใจอิสตรีนางใดในวงฟ้อนบวงสรวง ก็จะใช้พวงมาลัยดอกไม้สดเกี่ยวปลายไม้แล้วยื่นไปคล้องคอเอาไว้ เป็นเครื่องหมายให้ทุกคนได้ทราบว่า อิสตรีนางนั้นได้รับโปรดปรานจากผีบุญเป็นพิเศษ และนับเป็นวาสนาเป็นอย่างยิ่งที่ในคืนนั้นจะต้องเข้าเวรปรนนิบัติ ปรากฏว่าบรรดาสาวและไม่สาวต่างแย่งกันปรนนิบัติผีบุญเหล่านี้เป็นพิเศษทุกคืน คณะผีบุญชุดนี้ได้บัญญัติกฎข้อบังคับเอาไว้ ๓ ประการ ที่ชาวบ้านจะต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จะหลงลืมไม่ได้นั้น มีดังต่อไปนี้
           . จะต้องสวดมนต์ไหว้พระเป็นประจำทุกเช้าเย็น ขาดไม่ได้
           . จะต้องฟ้อนรำบวงสรวงคณะผู้มีบุญเป็นประจำทุกคืน ขาดไม่ได้
           . จะต้องหมั่นทำบุญให้ทานอยู่เป็นนิจ และจะต้องรำลึกถึงพระคุณของบิดา-มารดาอยู่เสมอทั้งนี้ในการเรียกพ่อ-แม่ดังที่เคยเรียกกันมาเฉย ๆ นั้นเป็นการไม่เคารพ จะต้องพากันเรียกเสียใหม่ว่า คุณพ่อคุณแม่
           ด้วยพิธีกรรมที่คณะผีบุญได้นำชาวบ้านปฏิบัติต่อเนื่องกันมามิได้ขาด ครั้นนานวันเข้า กิตติศัพท์ก็ได้เลื่องลือไปไกล ทำให้มีผู้คนสนใจหลั่งไหลเข้าไปอย่างมากมาย บ้างที่สนใจเครื่องรางของขลัง ก็ต้องตระเตรียมสิ่งของเข้าไปจัดทำเอง อาทิเช่นต้องการตะกรุดก็ต้องหาตะกั่วลูกแหไปหลอมแล้วตีแผ่ออกให้พระประเสริฐทำตะกรุด ที่ป่วยเจ็บได้ไข้ก็ไปอาบน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ ที่ต้องการผ้าประเจียดก็ต้องหาผ้าฝ้ายสีขาวไปให้เจ้าฝ่าตีนแดง ครั้นคณะผีบุญได้พบผู้คนมากหน้าหลายตาและเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น เลยเกิดความเคลิบเคลิ้มหลงตนลืมตัว หนักเข้าเลยพากันริอ่านหันไปทางการบ้านการเมือง ฝันเฟื่องที่จะเป็นเจ้าเข้าครองแผ่นดิน โดยประกาศอย่างอหังการว่า จะยกกำลังเข้าตีเอาเมืองเลยได้แล้วจึงจะยกกำลังเลยไปตีเอาเมืองเวียงจันทน์ เพื่อตั้งตนเป็นเอกราช เมื่อได้ประกาศเจตนารมณ์แล้วก็เรียกอาสาสมัครมาทำการคัดเลือก ด้วยมีความเชื่อมั่นว่าตนได้รับบัญชามาจากสวรรค์ ไม่ต้องมีผู้คนมากก็สามารถที่จะกระทำการใหญ่ได้ เมื่อเลือกผู้คนรวมได้ ๒๓ คน พร้อมด้วยปืนแก๊บ ๑ กระบอก ปืนคาบศิลา ๒ กระบอก พร้อมด้วยหอกดาบแหลนหลาวครบครัน ครั้นได้ฤกษ์พิชัยสงคราม คณะผีบุญก็ยกพลจำนวน ๒๓ คน ออกเดินทางจากบ้านหนองหมากแก้วแล้วมุ่งหน้าขึ้นสู่ทิศเหนืออ้อมผ่านหมู่บ้านนาหลักแล้วไปตั้งมั่นอยู่ริมลำห้วยทางด้านทิศเหนือของอำเภอวัง
สะพุง (บริเวณหมู่บ้านห้วยอีเลิศ ห่างจากที่ตั้งอำเภอวังสะพุง ประมาณ ๓ กม.)
           ระหว่างนั้น หลวงพิศาลสารกิจ นายอำเภอวังสะพุงได้ติดตามความเคลื่อนไหวของคณะผีบุญโดยส่งนายบุญเลิศ เหตุเกตุ สารวัตรศึกษา (อดีตกำนันตำบลวังสะพุง ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่) ออกไปสอดแนมพฤติการณ์ดูความเหิมเกริมของคณะผีบุญอย่างใกล้ชิดแทบจะเอาชีวิตไม่รอดก็หลายครั้ง แล้วให้ทำรายงานเข้ามายังอำเภอทุกระยะ หลวงพิศาลสารกิจได้ทำรายงานความเคลื่อนไหวของคณะผีบุญเข้าจังหวัดทุกระยะ ซึ่งในขณะนั้นกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำอยู่ในตัวจังหวัดเลยมีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้คนที่เข้าไปกราบไหว้คณะผีบุญ ดังนั้น ทางจังหวัดเลยจึงได้ทำรายงานไปยังกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี พร้อมกันนั้นก็ได้รายงานขอกำลังไปยังฝ่ายทหารที่ค่ายประจักษ์ศิลปาคมอีกด้วย  ถ้าหากว่ากำลังทางฝ่ายตำรวจที่อุดรมีไม่เพียงพอ ขณะนัน พ...พระปราบภัยพาล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานีในสมัยนั้น ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจรีบรุดมาจากจังหวัดอุดรธานีเข้าสมทบกับกำลังของจังหวัดเลย  ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของอำเภอวังสะพุง รีบวางแผนปราบปรามโดยด่วน ครั้นได้ทราบกำลังของคณะผีบุญพร้อมด้วยอาวุธจากนายบุญเลิศ เหตุเกตุ เป็นที่แน่นอนแล้ว กองกำลังตำรวจจากอุดรร่วมกับจังหวัดเลยและเจ้าหน้าที่อำเภอวังสะพุงก็เคลื่อนเข้าโอบล้อมคณะผีบุญทุกทิศทุกทาง ได้มีการปะทะกันเพียงเล็กน้อย คณะผีบุญก็แตกกระจัดกระจายจับผีบุญได้ทั้งคณะ แล้วควบคุมตัวขึ้นส่งฟ้องศาลฐานก่อการจลาจลสอบถามได้ความว่า พวกเขาทั้ง ๔ คนที่ตั้งตนเป็นผีบุญ เกิดความเคลิบเคลิ้มหลงใหลในนิยายพื้นเมืองของชาวอีสานเรื่อง สังข์ศิลปชัย และจำปาสี่ต้น จนหลงตนลืมตัวไป ส่วนความรู้สึกที่แท้จริงนั้น ยังมีความรักในถิ่นฐานหาได้มีความคิดเป็นกบฏต่อแผ่นดินกำเนิดก็หาไม่ คณะตุลาการได้รับฟังเรื่องราวจากผู้ที่ได้ตั้งตนเป็นผีบุญทั้ง ๔ คน ได้เกิดความเห็นใจ จึงพิพากษาให้จำคุกผีบุญทั้ง ๔ คน คนละ ๓ ปี ส่วนบริวารให้ปล่อยตัวไป
           การตั้งเมืองเลย
           เมื่อ พ..๒๓๙๖ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่าผู้คนในแขวงนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่าแต่ก่อน สมควรจะได้ตั้งเป็นเมือง เพื่อประโยชน์ในการปกครองอย่างใกล้ชิด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาท้ายน้ำออกมาสำรวจเขตแขวงต่าง ๆ แล้วได้พิจารณาเห็นว่า หมู่บ้านแฮ่ ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งห้วยน้ำหมานและอยู่ใกล้กับแม่น้ำเลย มีภูมิประเทศที่เหมาะสมแก่การสร้างป้อมด้วย เพราะมีภูเขาล้อมรอบและพลเมืองหนาแน่น พอจะตั้งเป็นเมืองได้ จึงนำความขึ้นถวายบังคมทูลเพื่อทรงทราบ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นเมือง เรียกชื่อตามนามของแม่น้ำเลยว่า "เมืองเลย"
       ต่อมา พ..๒๔๔๐ ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ร..๑๑๖ ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากเดิมมาเป็นแบบเทศาภิบาล โดยแบ่งเป็นมณฑลเมือง อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เมืองเลยจึงแบ่งการปกครองอีกเป็น ๔ อำเภอ อำเภอที่ตั้งตัวเมืองเรียกชื่อว่า "อำเภอกุดป่อง" ต่อมาใน พ..๒๔๔๒-๒๔๔๙ ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเลยเป็น "บริเวณลำน้ำเลย" ใน พ..๒๔๔๙-๒๔๕๐  ได้เปลี่ยนชื่อบริเวณลำน้ำเลย เป็นบริเวณลำน้ำเหือง และใน พ..๒๔๕๐ จึงได้มีประกาศของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๕๐ ยกเลิกบริเวณลำน้ำเหืองให้คงเหลือไว้เฉพาะ "เมืองเลย" โดยให้เปลี่ยนชื่ออำเภอกุดป่อง เป็นอำเภอเมืองเลยด้วย
        สำหรับอำเภอกุดป่อง ซึ่งเป็นที่ตั้งตัวเมืองเลยนั้น เรียกตามตำบลซึ่งเป็นที่ตั้งอำเภอในครั้งนั้น เหตุที่เรียกตำบลแห่งนี้ว่า "กุดป่อง" ก็เนื่องจากมีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ ณ บริเวณที่ว่าการอำเภอเมืองเลย ปัจจุบันนี้เกิดจากการเปลี่ยนทางเดินของแม่น้ำเลย มีลักษณะเป็นลำห้วยมีรูปโค้งเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีก มีปากน้ำแยกออกจากลำแม่น้ำเลยทั้งสองด้าน มีน้ำขังอยู่ตลอดปี ตรงกลางเป็นเกาะมีเนื้อที่ประมาณ ๙๐ ไร่ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอเมืองเลย ศาลาเทศบาลเมืองเลย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดเลย
การจัดรูปการปกครองในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
การจัดรูปการปกครองก่อนจัดระบบมณฑลเทศาภิบาล
        ใช้วิธีซึ่งเรียกในกฎหมายเก่าว่า "กินเมือง" อันเป็นแบบเดิม คำว่า "กินเมือง" มาถึงชั้นหลังเรียกเปลี่ยนเป็น "ว่าราชการเมือง" ส่วนคำว่า "กินเมือง" ก็ยังใช้กันในคำพูดอยู่บ้าง วิธีการปกครองที่เรียกว่า "กินเมือง" นั้น หลักเดิมมาคงถือว่าผู้เป็นเจ้าเมืองต้องทิ้งกิจธุระของตนมาประจำทำการปกครองบ้านเมืองให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากภยันตราย ราษฎรก็ต้องตอบแทนคุณเจ้าเมืองด้วยการออกแรงช่วยทำงานให้บ้าง หรือแบ่งสิ่งของซึ่งทำมาหาได้ เช่น ข้าวปลาอาหาร เป็นต้น อันมีเหลือใช้มอบให้เจ้าเมืองคนละเล็กละน้อย ทำให้เจ้าเมืองดำรงตนอยู่ได้โดยรัฐบาลในราชธานีไม่ต้องรับภาระ  จึงให้ค่าธรรมเนียมในการต่าง ๆ แทนตัวเงินสำหรับใช้สอย กรมการซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าเมืองก็ได้รับผลประโยชน์ทำนองเดียวกันเป็นแต่ลดลงตามศักดิ์ ต่อมาบ้านเมืองเปลี่ยนแปลง ทำให้การเลี้ยงชีพต้องอาศัยเงินตรามากขึ้น ผลประโยชน์ที่เจ้าเมืองกรมการได้รับอย่างโบราณไม่พอเลี้ยงชีพ จึงมีการหาผลประโยชน์เพิ่มพูนอย่างอื่น เช่น ทำไร่นา ค้าขาย เป็นต้น
        การเป็นเจ้าเมืองก็มักจะมีการสืบเชื้อสายวงศ์ตระกูลที่เคยเป็นเจ้าเมือง หรือเคยรับราชการงานเมืองมาแล้ว เช่น อาจเป็นบุตรชายเจ้าเมืองหรือถ้าไม่มีบุตรชายก็อาจให้บุตรเขยผู้ซึ่งเห็นว่ามีความรู้ความสามารถพอปกครองบ้านเมืองได้ ทำหน้าที่เจ้าเมืองแทน การแต่งตั้งเจ้าเมืองสำหรับเมืองเอก คงได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ส่วนเมืองเล็ก ๆ กรมการเมืองคงมีใบบอกหัวเมืองเอก และด้วยความเห็นชอบของเจ้าเมืองเอก สำหรับที่ทำการเจ้าเมืองก็เอาบ้านเรือนเป็นที่ว่าราชการด้วย บ้านเจ้าเมืองนิยมเรียกว่า "จวน" และมีศาลาโถงปลูกไว้หน้าบ้านหลังหนึ่งเรียกว่า " ศาลากลาง" สำหรับประชุมปรึกษาราชการ เป็นศาลาสำหรับชำระความหรือตัดสินความ ทั้งจวนและศาลากลางนี้สร้างขึ้นด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวรวมทั้งที่ดินก็เป็นของส่วนตัวด้วย เมื่อสิ้นสมัย เจ้าเมืองคนหนึ่งอาจเป็นด้วยเจ้าเมืองถึงแก่อนิจกรรมหรือเปลี่ยนเจ้าเมือง "จวน" เจ้าเมืองและศาลากลางเดิมก็ตกเป็นมรดกแก่ลูกหลาน  ใครได้เป็นเจ้าเมืองคนใหม่ถ้ามิได้เป็นผู้รับมรดกของเจ้าเมืองเก่า ก็ต้องหาที่สร้างจวนและศาลากลางใหม่ตามลำดับที่จะสร้างได้ บางทีก็สร้างห่างไกลจากที่เดิม แม้จนต่างตำบลก็มี จวนเจ้าเมืองไปอยู่ที่ไหนก็ย้ายที่ทำการไปอยู่ที่ใหม่ ตามสมัยของเจ้าเมืองคนนั้น ส่วนกรมการนั้นเพราะมักเป็นคหบดีในเมืองนั้น ซึ่งเมื่อตั้งบ้านเรือนอยู่ไหนก็คงอยู่ที่นั่น เป็นแต่เวลามีการงานจะต้องทำตามหน้าที่ จวนเจ้าเมืองอยู่ไหนก็ไปฟังคำสั่งที่นั่น บางคนตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างไกลก็มี โดยถือหลักเห็นเป็นผู้เหมาะสมที่จะรักษาสันติสุขของท้องถิ่นนั้นเป็นสำคัญ และมุ่งให้ประชาชน "อยู่เย็นเป็นสุข" ปราศจากภัยต่างๆ เช่นโจรผู้ร้าย ปราบปรามนักการพนัน การเสพของมึนเมาเป็นสำคัญ มิได้พัฒนาด้านต่าง ๆ ให้เจริญก้าวหน้าเหมือนในการดำเนินการปกครองในสมัยปัจจุบัน
             การบริหารงานปกครองสำหรับเมืองเล็กมิได้เป็นประเทศราช เช่น จังหวัดเลย คงมีการปกครองท้องถิ่นเป็นของตนเอง ในแต่ละเมืองจะมีเจ้าเมืองปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่สืบตระกูลกันเรื่อยมาดังกล่าวข้างต้น อำนาจการปกครองมีอย่างเต็มที่ตั้งแต่ระดับสูงสุดถึงระดับต่ำสุด และเนื่องจากเขตจังหวัดเลยอยู่ใกล้ชิดกับลาวมาก การจัดการปกครองบ้านเมืองบางอย่างคงได้รับอิทธิพลลาวอยู่มาก การบริหารบ้านเมืองได้แบ่งทำเนียบข้าราชการออกเป็น ๕ ขั้น คือ
             . ตำแหน่งอาชญาสี่ เป็นตำแหน่งบังคับบัญชาสูงสุดของเมือง มี ๔ ตำแหน่ง คือ
                 เจ้าเมือง  เป็นผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในกิจการบ้านเมืองทั้งปวง
                 อุปฮาด ทำการแทนเจ้าเมืองในกรณีเจ้าเมืองไม่อยู่หรือไม่สามารถว่าราชการ       ได้ และช่วยราชการทั่วไป
                 ราชวงศ์  มีหน้าที่เกี่ยวกับอรรถคดี ตัดสินชำระความ และการปกครอง
                  ราชบุตร  มีหน้าที่ควบคุมเก็บรักษาผลประโยชน์ของเมือง
(เกี่ยวกับตำแหน่งรองเจ้าเมือง คืออุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตรนี้ มีหลักฐานพอสืบได้จากคนเฒ่าคนแก่ ปรากฏให้ทราบว่าการปกครองสมัยก่อน จัดระบอบมณฑลเทศาภิบาล เช่น ในสมัยพระแก้วอาสา (กองแสง) ปกครองเมืองด่านซ้ายก็ดี และพระยาศรีอัครฮาด (ทองดี) ปกครองเมืองเชียงคานก็ดี มีตำแหน่งรองเจ้าเมืองดังกล่าว คือ อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร อยู่ด้วย)
            . ตำแหน่งผู้ช่วยอาชญาสี่  ได้แก่ตำแหน่งท้าวสุริยะ ท้าวสุริโย ท้าวโพธิสาร และท้าวสุทธิสารมีหน้าที่ในการพิจารณาคดีพิพากษาและการปกครองแผนกต่าง ๆ ของเมือง
            . ตำแหน่งขื่อบ้านขางเมือง  มีทั้งหมด ๑๗ ตำแหน่ง เช่น เมืองแสน กำกับฝ่ายทหารเมืองจันทน์ กำกับฝ่ายพลเรือน เมืองขวา เมืองซ้าย เมืองกลาง มีหน้าที่ดูแลการพัสดุต่าง ๆ เช่น การปฏิสังขรณ์จัดและกำกับการสักเลก เป็นต้น
               . ตำแหน่งเพียหรือเพี้ย  เป็นองครักษ์เจ้าเมือง เป็นพนักงานติดตามเจ้าเมือง
เป็นต้น
               . ตำแหน่งประจำหมู่บ้าน  มี ๔ ตำแหน่ง ได้แก่ท้าวฝ้าย ตาแสง นายบ้าน และจ่าเมืองเทียบได้กับตำแหน่งทางปกครองในปัจจุบันคือ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสารวัตรหมู่บ้านตามลำดับ
                สำหรับตำแหน่งขื่อบ้านขางเมือง ๑๗ ตำแหน่ง ดูชื่อแล้วคล้ายกับตำแหน่งข้าเฝ้า เมื่อมีวิญญาณเจ้าเข้าทรงเกี่ยวกับศาลเทพารักษ์ หรืออาฮักหลักเมืองของเมืองด่านซ้ายมาก ตำแหน่งข้าเฝ้าดังกล่าว มีถึง ๑๙ ตำแหน่ง โดยแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่ง ข้าเฝ้าฝ่ายเจ้าเมืองจัง คือ "เจ้ากวน" (ผู้ชายซึ่งมีหน้าที่ให้วิญญาณเจ้าเข้าทรง) มี ๑๐ คน ได้แก่ แสนด่าน แสนหอม แสนฮอง แสนหนูรินทร์ แสนศรีสองฮัก แสนตางใจ แสนกลาง แสนศรีฮักษา แสนศรีสมบัติ และแสนกำกับ ข้าเฝ้าฝ่ายเจ้าเมืองกลาง คือ "นางเทียม" (ผู้หญิงซึ่งมีหน้าที่ให้วิญญาณเจ้าเข้าทรง) มี ๙ คน ได้แก่ แสนเขื่อน แสนคำบุญยอ แสนจันทน์ แสนแก้วอุ่นเมือง แสนบัวโฮม แสนกลางโฮง แสนสุข เมืองแสน และเมืองจันทน์ ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้อาจเป็นตำแหน่งผู้มีหน้าที่ต่าง ๆ ในการดำเนินกิจการบ้านเมืองในสมัยโบราณก็ได้ แต่ไม่ทราบว่าผู้ใดมีหน้าที่อะไรแน่ชัด ที่พอทราบก็มีแสนด่าน และแสนเขื่อน เป็นหัวหน้าของแสนแต่ละฝ่ายเท่านั้น แม้ในทุกวันนี้การเข้าทรงก็ดี ตำแหน่งเจ้ากวนนางเทียม และแสนต่าง ๆ ก็ดีที่อำเภอด่านซ้าย ก็ยังคงมีอยู่เช่นสมัยก่อน
 ในแต่ละเมืองจะมีอำนาจเต็มที่ในการปกครอง การศาลและการเก็บส่วยสาอากร เช่น ในด้านการศาล คงให้มีการชำระความกันเอง โดยเจ้าเมืองและกรมการเมืองทำหน้าที่ลูกขุนพิจารณาคดี ส่วนการเก็บภาษีอากรก็คงให้อยู่ในอำนาจของแต่ละเมือง สำหรับเมืองซึ่งอยู่ในท้องที่จังหวัดเลย ซึ่งเป็นเมืองเล็กจะขึ้นตรงต่อเมืองเอก หรือเมืองใหญ่อีกต่อหนึ่ง การส่วยสาอากรก็ต้องส่งต่อเมืองเอกทุกปี และเจ้าเมืองตลอดข้าราชการมีการทำพิธีรับพระราช่ทานน้ำพิพัฒน์สัตยาปีละ ๒ ครั้ง หรือปีละครั้งเป็นอย่างน้อย
        การจัดรูปการปกครองตามระบบมณฑลเทศาภิบาล
                       ลักษณะการเทศาภิบาล เป็นการปกครองซึ่งเปลี่ยนแปลงให้มีขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การเทศาภิบาล คือ การปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการอันประกอบด้วย ตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลในพระองค์ รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลาง ซึ่งประจำอยู่แต่เฉพาะในราชธานีนั้น ออกไปดำเนินการในส่วนภูมิภาคอันเป็นที่ใกล้ชิดต่ออาณาประชากร เพื่อให้ได้รับความ  ร่มเย็นเป็นสุขและความเจริญทั่วถึงกัน โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ราชอาณาจักรด้วย ฯลฯ จึงแบ่งส่วนการปกครองแว่นแคว้นออกโดยลำดับชั้น เป็นมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน และแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัด เป็นแผนกพนักงาน ทำนองการแบ่งงานของกระทรวงในราชการ อันเป็นวิถีนำมาซึ่งความเป็นระเบียบเรียบร้อย รวดเร็วและโดยเฉพาะอย่างยิ่งระงับทุกข์บำรุงสุขด้วยความเที่ยงธรรมแก่อาณาประชาชนและได้มีการแก้ไขลักษณะปกครอง ให้เป็นไปตามพระราช-บัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร..๑๑๖ นั่นคือ ให้ตั้งทำเนียบข้าราชการเสียใหม่ ยกเลิกตำแหน่งทางการปกครอง คือ อาชญาสี่ ได้แก่ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ในตอนแรกคงใช้แบบเดิมอยู่ ต่อมาจึงค่อยยุบเลิกหมดใน พ..๒๔๕๐ โดยให้เรียกใหม่เป็น ผู้ว่าราชการเมือง ปลัดเมือง ยกกระบัตรเมือง และผู้ช่วยราชการเมืองตามลำดับแทน ตำแหน่งอื่น ๆ ก็ได้ปรับปรุงให้เหมาะสมด้วย สำหรับส่วนราชการตามระบอบมณฑลเทศาภิบาลแบ่งออกดังต่อไปนี้
มณฑล คือรวมเขตจังหวัดตั้งแต่สองจังหวัดขึ้นไป มากบ้างน้อยบ้าง สุดแต่ให้ความสะดวกในการปกครอง ตรวจตราบัญชาการของสมุหเทศาภิบาล จัดเป็นมณฑลหนึ่ง มีข้าราชการชั้นสูงเป็นผู้บัญชาการเป็นประธานข้าราชการมณฑลหนึ่ง นอกจากตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล ยังมีข้าหลวงรอง เป็นเจ้าหน้าที่แผนกการต่าง ๆ ของมณฑล และมีข้าราชการเจ้าพนักงานสำหรับช่วยปฏิบัติราช-การตามสมควรแก่หน้าที่ สมุหเทศาภิบาลมีอำนาจหน้าที่ปกครองบัญชาการและตรวจตราภาวะการณ์ทั้งปวง และราชการในมณฑล ซึ่งมีบทบัญญัติของรัฐบาลมอบให้เป็นหน้าที่ของเทศาภิบาล รับข้อเสนอและสั่งราชการแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด อันเป็นผลสำเร็จเร็วกว่าที่จังหวัดจะบอกเข้ามายังกระทรวง และคอยฟังคำสั่งจากกรุงเทพ ฯ ดังแต่ก่อน นับเป็นผลดีแก่ทางราชการและประชาชน
จังหวัด  แต่ก่อนเรียกว่า "เมือง" รวมเขตอำเภอ (เมือง) ตั้งแต่สองอำเภอ (เมือง) ขึ้นไป ถึงหลายอำเภอ (เมือง) ก็มี จัดเป็นจังหวัดหนึ่ง รองถัดจากมณฑลลงมาให้มีอาณาเขตพอควรแก่ความเจริญและความสะดวกในการตรวจตราปกครองจังหวัดหนึ่ง ซึ่งมีข้าราชการผู้ใหญ่ เป็นตำแหน่งผู้ว่า-ราชการเมือง เรียกว่า "ข้าหลวงประจำจังหวัด" และต่อมาเรียกว่า "ผู้ว่าราชการจังหวัด" เป็นหัวหน้าและมีกรมการจังหวัดคณะหนึ่งช่วยบริหารราชการ
            อำเภอ กิ่งอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน  เป็นส่วนรองถัดจากจังหวัดลงมาโดยลำดับชั้นทั้งท้องที่และเจ้าพนักงานมีหน้าที่ปกครองใกล้ชิดกับประชาราษฎร ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค อำเภอหนึ่งมีนายอำเภอเป็นหัวหน้า กิ่งอำเภอมีปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้า ตำบลและหมู่บ้านมีกำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้าปกครองดูแลตามลำดับ
การตั้งมณฑลเทศาภิบาล
มณฑลที่ตั้งขึ้นครั้งแรก  เมื่อ พ..๒๔๓๕ คือก่อน พ..๒๔๓๗ มี ๖ มณฑล ได้แก่มณฑลลาวเฉียง ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลพายัพ มณฑลลาวพวน ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอุดร (เมืองเลยขึ้นอยู่ในเขตมณฑลนี้) มณฑลลาวกาว ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอีสาน มณฑลเขมร ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลบูรพา มณฑลลาวกลาง ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลนครราชสีมา และมณฑลภูเก็ต มณฑลที่ตั้งครั้งแรกนี้ยังมิได้จัดเป็นลักษณะเทศาภิบาล
           ..๒๔๓๗  ได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นใหม่ ๔ มณฑล คือมณฑลพิษณุโลก มณฑลปราจีน มณฑลราชบุรี และมณฑลนครราชสีมา
           ..๒๔๓๘   ได้จัดตั้งมณฑลขึ้นใหม่ ๓ มณฑล และแก้ไขให้เป็น
ลักษณะเทศาภิบาล ๑ มณฑล รวม ๔ มณฑล คือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ มณฑลกรุงเก่า และมณฑลภูเก็ต
           ..๒๔๓๙  ได้จัดตั้งมณฑลขึ้นใหม่ ๒ มณฑล และแก้ไขให้เป็นลักษณะเทศาภิบาล ๑ มณฑล รวม ๓ มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลชุมพร และมณฑลบูรพา
           ..๒๔๔๐  ได้จัดตั้งมณฑลขึ้นใหม่ ๑ มณฑล คือ มณฑลไทรบุรี
           ..๒๔๔๒  ได้จัดตั้งมณฑลขึ้นใหม่ ๑ มณฑล คือ มณฑลเพชรบูรณ์
           ..๒๔๔๓  ได้แก้ไขการปกครองมณฑลที่มีอยู่ก่อน พ..๒๔๓๖ ให้เป็นลักษณะเทศาภิบาล ๓ มณฑล คือ มณฑลพายัพ มณฑลอีสาน (เคยเรียกว่ามณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ) และมณฑลอุดร (แบ่งเมืองออกเป็นบริเวณซึ่งมีบริเวณน้ำเหืองตั้งบริเวณที่เมืองเลย รวมอยู่ด้วย)
           ..๒๔๔๙  ยุบมณฑลเพชรบูรณ์
..๒๔๔๙  ได้จัดตั้งมณฑลขึ้นอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลจันทบุรี และมณฑลปัตตานี
        ..๒๔๕๐  ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
           ..๒๔๕๑  จำนวนมณฑลลดลง ๑ มณฑล เพราะไทยต้องยอมยกมณฑลไทรบุรีให้แก่อังกฤษ
        ..๒๔๕๕  แยกมณฑลอีสานออกเป็น ๒ มณฑล มีชื่อใหม่ว่า มณฑลอุบลและมณฑลร้อยเอ็ด
           ..๒๔๕๘  จัดตั้งมณฑลขึ้นอีก ๑ มณฑล คือ มณฑลมหาราษฎร์
           ในรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนมณฑลกรุงเทฯ เป็นกรุงเทพมหานคร (มณฑลกรุงเทพฯ รัชกาลที่ ๕ ได้โปรดให้ตั้งขึ้นเมื่อ พ..๒๔๓๘)
           มณฑลทั้งหมดในราชอาณาจักรครั้งนั้น มีทั้งสิ้น ๒๑ มณฑลด้วยกัน
เมื่อได้มีการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้นแล้ว ต่อมาก็ได้มีการแก้ไขปรับปรุงการ
ปกครองให้เป็นลักษณะเทศาภิบาลขึ้นดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้การปกครองดำเนินไปอย่างมีระเบียบและเกิดคุณประโยชน์แก่ประชาชนและบ้านเมืองมากขึ้น การปกครองจึงใช้แบบเก่าของไทยเป็นหลัก คือการปกครองแบบพ่อปกครองลูก และวิธีการแบบใหม่ควบคู่ไปด้วย ได้ออกประกาศตักเตือนให้ราษฎรปฏิบัติตามแบบอย่างทางราชการ โดยให้ถือเป็นกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ซึ่งมีเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
ประกาศให้ราษฎรเสียเงินค่าราชการประจำปี
ข.       ประกาศให้ราษฎรเมื่อมีคดีขึ้น ให้ฟ้องร้องต่อศาลที่ตั้งขึ้นในแต่ละท้องที่ เช่น ศาลหมู่-บ้าน ศาลอำเภอ ศาลเมือง และศาลข้าหลวง เป็นต้น
ค.       ประกาศให้ราษฎรเข้ารับราชการทหาร
ง.        ประกาศให้ราษฎรเลิกเล่นการพนันเลิกสูบฝิ่นและเลิกหลงเชื่อในสิ่งที่ผิด เช่น เลิกสักตามร่างกาย เป็นต้น
จ.        ประกาศให้ราษฎรใช้หัวแม่มือแตะเอกสารแทนการเขียนรูปร่าง ๆ ลงท้ายเอกสารเช่นแต่ก่อน
แต่เนื่องจากความเคยชินของราษฎรที่ปฏิบัติตามประเพณีที่เชื่อถือกันมาแต่เดิม จึงยังไม่เห็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่ตนเองและประเทศชาติ  เพราะขาดสิ่งที่จะให้ราษฎรเปลี่ยนความคิด คือการให้การศึกษาแก่ราษฎร ประกาศดังกล่าวจึงไม่ค่อยได้ผลนัก
นอกจากนี้ยังประกาศเตือนให้ราษฎรปฏิบัติตามกฎหมาย หรือตามความต้องการของทางราชการอื่น ๆ มีการปรับปรุงการศึกษา โดยให้ผู้ชายมีอายุพอสมควร ได้บวชเรียนได้จัดให้ราษฎรเข้าศึกษาในสถานศึกษาที่ทางราชการจัดขึ้น จัดตั้งศาลให้แน่นอน การเก็บภาษีให้รัดกุมไม่รั่วไหล จัดเส้นทางคมนาคม ได้แก่ ถนนทางเกวียนและสะพานให้สะดวก ตลอดจนการสื่อสาร เป็นต้น
การปกครองตามเมืองต่าง ๆ นอกจากมีผู้ว่าราชการเมืองแล้ว ยังมีข้าหลวงกำกับอีกด้วย ข้าหลวงที่ได้รับแต่งตั้งได้มอบหน้าที่ให้ไปจัดการเก็บภาษีอากรสุรา ภาษีต่าง ๆ และพิจารณาตัดสินแก้ปัญหาเรื่องเขตเมือง มีการยกฐานะการครองชีพของราษฎร โดยส่งเสริมการทำนา เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น การเก็บภาษีอากร เมื่อเก็บได้นอกจากนำเข้ารัฐแล้ว ยังแบ่งผลประโยชน์ให้ผู้ว่าราชการเมือง และข้าหลวง ตลอดจนกรมการอีกด้วย
ต่อมาทางราชการได้พิจารณาปรับปรุงในด้านต่างๆ เช่น การเก็บผลประโยชน์การทหาร การศาล การคมนาคมสื่อสาร และการศึกษา เป็นต้น ซึ่งช่วยให้การปรับปรุงการปกครองในส่วนโครงสร้างได้ผลดียิ่งขึ้น อันเป็นการปรับปรุงขั้นพื้นฐานเป็นผลให้ราษฎรได้เปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นอยู่ได้รับความสะดวก ความยุติธรรม ความสงบสุขมากขึ้นตามลำดับ


.๓  การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
          เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อ พ..๒๔๗๕ แล้ว ต่อมาทางราชการได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินสยาม พ..๒๔๗๖ ให้ยกเลิกวิธีการปกครองตามแบบมณฑลเทศาภิบาล เปลี่ยนเป็นแบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาคโดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอ โดยรวมพื้นที่หลาย ๆ อำเภอเป็นจังหวัด ระดับจังหวัดมีข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นหัวหน้า ร่วมกับคณะกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร ทั้งนี้ เพื่อมิให้หน่วยงานมณฑลซ้ำซ้อนกับจังหวัด เป็นการประหยัดช่วยทำให้การบริหารราช-การรวดเร็วขึ้น เพราะการคมนาคมสื่อสารเจริญก้าวหน้ากว่าแต่ก่อน และรัฐบาลมีนโยบายมอบอำนาจการปกครองให้แก่ส่วนภูมิภาคมากยิ่งขึ้น
         เมื่อ พ..๒๔๙๕ รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่งเปลี่ยนแปลงจากหลักการเดิมให้จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมอบอำนาจบริหารราชการแผ่นดินให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยเฉพาะ ส่วนคณะกรมการจังหวัดให้มีฐานะเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
         ต่อมาคณะปฏิวัติได้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน  ตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราช-การส่วนภูมิภาคออกเป็น
             (จังหวัด
         (อำเภอ
         โดยกำหนดให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล การ ตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดจะทำได้ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด ในการบริหารราชการแผ่นดินในเขตจังหวัด-อำเภอหนึ่ง ๆ มีนายอำเภอเป็นผู้บริหาร โดยมีคณะกรมการอำเภอเป็นที่ปรึกษา และในเขตอำเภอหนึ่ง ๆ ยังแบ่งเขตปก
ครองออกเป็นตำบลและหมู่บ้านโดยมีกำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้าปกครองตามลำดับ
         นอกจากนี้ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๑๘  ยังกำหนดให้มีการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารงานให้กับท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นเจริญก้าวหน้าและเป็นการฝึกประชาชนให้เข้าใจหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วย โดยแบ่งการปกครองส่วนท้องถิ่นออกเป็น ๔ รูป คือ
          องค์การบริหารส่วนจังหวัด
          เทศบาล
          สุขาภิบาล
          องค์การบริหารส่วนตำบล
          ปัจจุบันจังหวัดเลย แบ่งการปกครองออกเป็น ๙ อำเภอ ๒ กิ่งอำเภอ ๗๒ ตำบล และ ๖๒๒ หมู่บ้าน และมีการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ๑ แห่ง เทศบาล ๑ แห่ง และสุขาภิบาล ๖ แห่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น